ประวัติความเป็นมา

 

ความเป็นมางานประกันคุณภาพการศึกษา 

                   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เริ่มดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยกองวิชาการ สำนักงานอธิการบดีร่วมกับคณะกรรมการจัดการประชุมเสวนาแนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา ได้จัดให้มีการประชุมเสวนาการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจและชี้แจงถึงความจำเป็นของการประกันคุณภาพการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ มีผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลางและวิทยาเขตเข้าร่วมประชุม โดยอธิการบดีเป็นประธาน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอกมาให้คำปรึกษา ให้ข้อเสนอแนะและแนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา

                 การดำเนินการด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ได้ดำเนินการตามระบบประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทอมก) ซึ่งที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าควรดำเนินการให้เป็นไปตามระบบ ซึ่งเหมาะสมกับธรรมชาติของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เวลานั้นเป็นช่วงที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กำลังดำเนินการปรับเกณฑ์มาตรฐานตามองค์ประกอบต่างๆ ของระบบประกันคุณภาพให้เหมาะสมกับการจัดการศึกษาของไทย

                   ระยะที่หนึ่ง คณะกรรมการอำนวยการการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ได้มีมติ

 

เห็นชอบให้ดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยตามระบบ IPOI คือ ปัจจัยนำเข้า (Input) ปัจจัยกระบวนการ (Process) ปัจจัยผลผลิต (Output) และปัจจัยผลกระทบ (Impact) ประกอบด้วย ๑๒ ปัจจัย ๕๒ เกณฑ์ และ ๕๙ ตัวชี้วัด เกณฑ์เหล่านี้ใช้ประเมินคุณภาพภายใน ครั้งที่ ๑ (๒๕๔๔-๒๕๔๖) ใช้ระบบให้คะแนนเป็น  ๓  A (Awareness Attempt and Achievement)

                 ระยะที่สอง การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ก็ยังใช้ระบบเดิมทุกประการ คือระบบ IPOI คือ ปัจจัยนำเข้า (Input) ปัจจัยกระบวนการ (Process) ปัจจัยผลผลิต (Output) และปัจจัยผลกระทบ (Impact) โดยคณะกรรมการอำนวยการได้ปรับปรุงและพัฒนาการประกันคุณภาพ

การศึกษามาเป็น ๑๕ ปัจจัย ๕๘ ตัวชี้วัด เกณฑ์เหล่านี้ใช้ประเมินคุณภาพภายใน ครั้งที่ ๒ (๒๕๔๗-๒๕๔๘) ใช้ระบบให้คะแนนเต็ม ๕ คะแนน ระยะนี้เองที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เข้ามาประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกมหาวิทยาลัย ในรอบที่ ๑ (๘ มีนาคม ๒๕๔๘)

                   ระยะที่สาม หลังจากที่สำนักงานงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเข้ามาประเมินคุณภาพภายนอกและรายงานผลการประเมินแล้ว คณะกรรมการดำเนินการการประกันคุณภาพการศึกษา ได้ปรับระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินงานของทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย โดยปรับจากปัจจัยเป็นมาตรฐานตาม สมศ. ประกอบด้วย ๗ มาตรฐาน ผสมผสานจากปัจจัยทั้งหมดเข้ามาอยู่ตามมาตรฐานนั้นๆ ระบบนี้ครอบคลุมการดำเนินการของส่วนงานที่จัดการศึกษาและส่วนงานที่สนับสนุนการศึกษาตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยทุกประการ ดังนี้

มาตรฐานที่  ๑ด้านคุณภาพบัณฑิต

มาตรฐานที่  ๒ด้านงานวิจัยและงานสร้างสรรค์

มาตรฐานที่  ๓ด้านการบริการวิชาการและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

มาตรฐานที่  ๔ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

มาตรฐานที่  ๕ด้านการพัฒนาสถาบันและบุคลากร

มาตรฐานที่  ๖ด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน

มาตรฐานที่  ๗ด้านการประกันคุณภาพ

คณะกรรมการดำเนินการการประกันคุณภาพการศึกษา ได้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ครั้งที่ ๓ (๒๕๔๙-๒๕๕๐) โดยใช้ระบบ ๗ มาตรฐาน ตามเกณฑ์การประเมินของ สมศ. เพื่อเตรียมรับการประเมินคุณภาพภายนอก ข้อมูลที่ได้จากการประเมินคุณภาพภายในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยใช้เป็นข้อมูลสำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.ในรอบที่ ๒ (๒๓-๒๕ มกราคม ๒๕๕๑)

                   ระยะที่สี่ หลังจากที่มหาวิทยาลัยผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกในรอบที่สองแล้ว จึงได้ดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยคณะกรรมการดำเนินการการประกันคุณภาพการศึกษา ได้ปรับระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ของมหาวิทยาลัยเป็น ๙ องค์ประกอบ ๕๖ ตัวบ่งชี้ ใช้ระบบให้คะแนนเต็ม ๓ คะแนน มหาวิทยาลัยดำเนินการการประกันคุณภาพการศึกษาด้วยระบบนี้ในปีการศึกษา ๒๕๕๐ – ๒๕๕๒ ดังนี้

องค์ประกอบที่ ๑ ปรัชญา ปณิธาน วัตถุประสงค์และแผนการดำเนินการ

องค์ประกอบที่ ๒ การเรียนการสอน

องค์ประกอบที่ ๓ กิจกรรมการพัฒนานิสิต

องค์ประกอบที่ ๔ การวิจัย

องค์ประกอบที่ ๕ การบริการทางวิชาการแก่สังคม

องค์ประกอบที่ ๖ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

องค์ประกอบที่ ๗ การบริหารและการจัดการ

องค์ประกอบที่ ๘ การเงินและงบประมาณ

องค์ประกอบที่ ๙ ระบบและกลไกการประกันคุณภาพ

                   ระยะที่ห้า   มหาวิทยาลัยได้จัดทำระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายใน โดยใช้เกณฑ์ประเมินของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นหลัก ผนวกกับเกณฑ์ประเมินของสำนักงานรับรอง มาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ประเมินคุณภาพการศึกษาของส่วนงานที่จัดการศึกษาทุกส่วนงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาครั้งนี้ มี ๙ องค์ประกอบ ๔๒ ตัวบ่งชี้ แบ่งเป็นปัจจัยนำเข้า (Input) ๔ ตัวบ่งชี้ กระบวนการ (Process) ๑๘ ตัวบ่งชี้ และผลผลิต (Output) หรือผลกระทบ (Impact) ๒๐ ตัวบ่งชี้  ใช้ระบบการให้คะแนนเต็ม ๕ คะแนน มหาวิทยาลัยดำเนินการการประกันคุณภาพการศึกษาด้วยระบบนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๓

                ระยะที่หก มหาวิทยาลัยออกข้อบังคับมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๗ กำหนดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
(๑) ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน และ (๒) ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก ครอบคลุมพันธกิจทั้ง ๔ ด้านของมหาวิทยาลัย คือ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการ และการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สอดคล้องกับปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ ของมหาวิทยาลัย หลักการและแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยมีกลไกในการประกันคุณภาพการศึกษา คือ คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย และคณะอนุกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของส่วนงาน
คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายใน โดยใช้เกณฑ์ประเมินของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นหลัก แบ่งเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ (๑) ระดับหลักสูตร (๒) ระดับคณะ วิทยาเขตและวิทยาลัย และ (๓) ระดับสถาบัน ใช้ระบบให้คะแนนเต็ม ๕ คะแนน มหาวิทยาลัยดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาด้วยระบบนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๗ มีองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ ดังนี้
๑) การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร ประกอบด้วย ๖ องค์ประกอบ ๑๔ ตัวบ่งชี้
องค์ประกอบที่ ๑ การกำกับมาตรฐาน
องค์ประกอบที่ ๒ บัณฑิต
องค์ประกอบที่ ๓ นิสิต
องค์ประกอบที่ ๔ อาจารย์
องค์ประกอบที่ ๕ หลักสูตร การเรียนการสอน การประเมินผู้เรียน
องค์ประกอบที่ ๖ สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้
๒) การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับคณะ วิทยาเขตและวิทยาลัย ประกอบด้วยผลการดำเนินงานระดับหลักสูตรและเพิ่มเติม ๕ องค์ประกอบ ๑๓ ตัวบ่งชี้ ดังนี้
องค์ประกอบที่ ๑ การผลิตบัณฑิต
องค์ประกอบที่ ๒ การวิจัย
องค์ประกอบที่ ๓ การบริการวิชาการ
องค์ประกอบที่ ๔ การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
องค์ประกอบที่ ๕ การบริหารจัดการ
๓) การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน ประกอบด้วยผลการดำเนินงานระดับหลักสูตร ระดับคณะ วิทยาเขตและวิทยาลัย และเพิ่มเติม ๕ องค์ประกอบ ๑๓ ตัวบ่งชี้ ดังนี้
องค์ประกอบที่ ๑ การผลิตบัณฑิต
องค์ประกอบที่ ๒ การวิจัย
องค์ประกอบที่ ๓ การบริการวิชาการ
องค์ประกอบที่ ๔ การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
องค์ประกอบที่ ๕ การบริหารจัดการ

                    ระยะที่เจ็ด มหาวิทยาลัยจัดทำตัวบ่งชี้ประกันคุณภาพการศึกษาใหม่เพิ่มเติม ตามมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยและสนองตอบนโยบายของประเทศ เป็นตัวบ่งชี้ชนิดผลลัพธ์ แบ่งเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ (๑) ระดับหลักสูตร มีตัวบ่งชี้เพิ่มเติม ๑ ตัวบ่งชี้ (๒) ระดับคณะ วิทยาเขตและวิทยาลัย มีตัวบ่งชี้เพิ่มเติม ๗ ตัวบ่งชี้ และ (๓) ระดับมหาวิทยาลัย มีตัวบ่งชี้เพิ่มเติม ๗ ตัวบ่งชี้ เพื่อใช้ประกันคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
ตัวบ่งชี้เพิ่มเติมระดับมหาวิทยาลัย ๗ ตัวบ่งชี้ คือ

๑) หลักสูตรปรับปรุง หรือหลักสูตรใหม่ หรือหลักสูตรไม่มีปริญญา (non degree) ที่เป็นหลัก สูตรบูรณาการระหว่างศาสตร์ หรือหลักสูตร ๒ ปริญญา หรือหลักสูตรข้ามสถาบัน มีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ชัดเจน
๒) ผลการประเมินบัณฑิตปริญญาตรีที่มีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ สอบผ่านภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีสารสนเทศ
๓) งานวิจัยพัฒนาองค์ความรู้หรือนวัตกรรมทางพระพุทธศาสนาที่มีการนำไปใช้ประโยชน์
๔) ผลการบริการวิชาการที่เสริม สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน
๕) ผลของการสืบสาน รักษาและต่อยอดศิลปวัฒนธรรมทางพระพุทธ ศาสนาแบบสร้างสรรค์
๖) ผลการดำเนินการเครือข่ายความร่วมมือในประเทศหรือต่างประเทศ
๗) ผลงานด้านการศึกษา วิจัย บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับรางวัลระดับชาติหรือนานาชาติ


ประวัติความเป็นมาของสำนักงานประกันคุณภาพ

                   สำนักงานประกันคุณภาพ เป็นส่วนงานระดับกอง  สังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นตามประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ เรื่อง การแบ่งส่วนงาน พ.ศ.๒๕๕๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐ ตอนพิเศษ ๑๘๙ ง วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖ จุดประสงค์เพื่อให้เป็นส่วนงานรับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งระดับส่วนงานและระดับมหาวิทยาลัย

                   ในเบื้องต้น ได้ดำเนินการสานต่องานของฝ่ายมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี ต่อมามหาวิทยาลัยจึงได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยฯ เรื่อง ภารกิจ อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนงานในมหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๕๗ ณ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ เพื่อกำหนดภารกิจ อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น กำหนดให้สำนักงานประกันคุณภาพ มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งระดับส่วนงานและระดับมหาวิทยาลัย และปฏิบัติงานอันที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย  โดยมีภารกิจ ๓ กลุ่มงาน ดังนี้

                   ๑) กลุ่มงานฐานข้อมูลและสารสนเทศ  ปฏิบัติงานรวบรวมข้อมูลสารสนเทศของส่วนงานต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลในการบริหารและการประกันคุณภาพ และปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

                   ๒) กลุ่มงานมาตรฐานและประกันคุณภาพ ปฏิบัติงานพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้และผลการประเมินคุณภาพการศึกษา และปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

                   ๓) กลุ่มงานติดตามตรวจสอบและประเมินผล ปฏิบัติงานติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา งานประเมินคุณภาพการศึกษา งานพัฒนาเครือข่ายด้านการประกันคุณภาพการศึกษา งานฝึกอบรม และปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย