คุณภาพการศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ระดับดีมาก

          เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2565 คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. วศิน    อิงคพัฒนากุล ประธานกรรมการ รองศาสตราจารย์กัลณกา สาธิตธาดา  ดร.ปิยวรรณ สิริประเสริฐศิลป์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจักร์  รอดอาวุธ และรองศาสตราจารย์ ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง นำเสนอข้อมูลผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2564 มีพระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี และผู้บริหาร เข้าร่วมฟังผลการประเมิน ณ ห้องประชุม 401 อาคารสำนักงานอธิการบดี         ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยู่ในระดับ “ดีมาก” ได้คะแนน 4.53

          การประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564 คณะกรรมการตรวจประเมินได้ดำเนินการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม พ.ศ.2565  ตามกระบวนการในระบบประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยใช้ตัวบ่งชี้และเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) 13 ตัวบ่งชี้ และตัวบ่งชี้เพิ่มเติมของมหาวิทยาลัยตามมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ.2561 จำนวน 7 ตัวบ่งชี้  ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 การผลิตบัณฑิต องค์ประกอบที่ 2 การวิจัย องค์ประกอบที่ 3 การบริการวิชาการ องค์ประกอบที่ 4 การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และ องค์ประกอบที่ 5 การบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 20 ตัวบ่งชี้

           ปัจจุบัน มีส่วนงานจัดการศึกษาของมหาจุฬาฯ ใช้เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ EdPEx “Education Criteria for Performance Excellence” จำนวน 11 ส่วนงาน

          คณะกรรมการ กล่าวถึงจุดเด่นของมหาวิทยาลัยว่า  มหาวิทยาลัยมีเครือข่ายการดำเนินงานด้านการบริการวิชาการครอบคลุมทั่วประเทศ ควรจัดทำแผนบริการวิชาการแก่สังคม มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์ที่สร้างประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นและสังคมตามจุดเน้น อัตลักษณ์และความได้เปรียบเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยประสานความร่วมมือกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ